ประเพณีมอญร้องไห้

ประเพณีมอญร้องไห้
คณะมอญร้องไห้ พรรณาสดุดีเทิดพระเกียรติ ในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประเพณีมอญร้องไห้

มอญร้องไห้
พิธีกรรมความตายของชาวมอญ
มอญร้องไห้ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ของชาวมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลานต่อผู้ตาย อีกทั้งยังเป็นการรำพันคุณงามความดีของผู้ตาย ที่กระทำไว้เมื่อครั้งยังมีลมหายใจ ผู้ร้องจะใช้ปฏิภาณกวี เนื้อหาที่ร้องนั้นไม่ตายตัว และเป็นภาษามอญทั้งสิ้นประวัติความเป็นมาของ "มอญร้องไห้" นั้น มีผู้กล่าวไว้หลายแห่ง เช่น เสถียรโกเศศ กล่าวถึงในหนังสือประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต ในตอนที่เกี่ยวกับความตายไว้ว่า
ต้นเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงปาฏิหาริย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสปบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ผลต่างร้องไห้กันระงม จึงเป็นประเพณีสืบต่อมา บ้างก็ว่า เป็นการสืบเนื่องมาจากนางมัลลิกา ทรงกันแสงคร่ำครวญ ต่อพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งชาวมอญนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อ ๆ มากับภิกษุสงฆ์ จนถึงฆราวาส
ที่มาอีกประการคือ เป็นเรื่องกุศโลบายในการสงครามสมัยพระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญที่ ขับเคี่ยวกับพม่าในอดีต ราชบุตรของพระเจ้าราชาธิราช คือพระยาเกียรติถูกพม่าเข้าล้อมเมืองโดยไม่รู้ตัว กำลังทหารรักษาเมืองก็น้อย ไม่สามารถสู้รบกับทหารพม่าที่มีกำลังมากกว่า ได้พยายามส่งข่าวไปให้พระราชบิดามาช่วยก็ไม่สามารถทำได้ ยังมีนายทหารชื่อสมิงอายมนทยา อาสาออกไปส่งข่าวด้วยการนำอุบาย “ นอนตาย ” ไปบนแพหยวกกล้วย ตามร่างการทาด้วยน้ำผึ้ง ข้างกายมีหม้อปลาเน่า ส่งกลิ่นเหม็นทำให้มีแมลงวันมาตอมเหมือนตายจริง ๆ ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่เดินออกมา ก็ให้หญิงสาวชาวมอญโกนหัวเดินร้องไห้โหยหวน พลางรำพึงรำพันถึงคุณงามความดีของสามี ที่นอนตายบนแพหยวกกล้วยนั้น ฝ่ายทหารพม่าไม่ได้เฉลียวใจว่าถูกกลลวง ปล่อยให้ขบวนศพที่มีมอญร้องไห้ผ่านไป จนสามารถนำทัพหลวงมาช่วยได้สำเร็จ จึงเป็นประเพณีมอญร้องไห้ไว้อาลัยสืบต่อไป

" มอญร้องไห้ " แบบดั้งเดิมของมอญนั้น นิยมทำกันในช่วงดึกสงัด ระหว่างการตั้งศพบำเพ็ญกุศลและช่วงเช้ามืด อีกช่วงก็คือช่วงชักศพขึ้นเมรุเตรียมฌาปนกิจ แต่เดิมผู้ร้องไห้จะเป็นหญิงสูงอายุซึ่งเป็นญาติกับผู้ตาย การร้องไห้นี้เป็นการร้องที่ไม่มีน้ำตา ได้แต่พรรณนาคุณความดีของผู้ตาย พลางสะอื้นน้อย ๆ เป็นระยะมิได้ฟูมฟายตีอกชกหัว อย่างที่คนยุคหลังนำมาดัดแปลง บางแห่งถึงกับใช้กะเทยแต่งกายเป็นหญิง ร้องพลางกลิ้งตัวลงมาจากเมรุชั้นสูงสุด เพื่อเรียกอารมณ์สะเทือนใจจากแขกที่ร่วมงาน และสิ่งที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งก็คือเมื่อผ้าผ่อนท่อนสไบของกะเทยเปิดเปิง ( หากเป็นหญิงยังน่าอภิรมย์ ) กรณีที่ผู้ตายมีฐานะดี ลูกหลานผู้ตายมักหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และมีการร้อง “ มอญร้องไห้ ” ประกอบร้องพรรณนาคุณงามความดีของผู้ตาย ด้วยความอาลัยรัก เสียงร้องโหยหวนเข้าบรรยากาศ ยิ่งในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงนั้น เสียงร้องไห้อาจสะเทือนใจพลอยทำให้ผู้ที่ได้ยิน ที่แม้ไม่ใช่ญาติผู้ตายก็อดสะเทือนใจจนร้องไห้ตามไม่ได้ ธรรมเนียม “ มอญร้องไห้ ” ได้มีอิทธิพลแพร่เข้าไปยังราชสำนักไทย จะต้องมีนางร้องไห้ทุกครั้งที่สูญเสียบุคคลในราชตระกูล ธรรมเนียมนางร้องไห้ในวังนี้ คาดว่ามีมาแต่ครั้งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ยกเลิกไปสมัยรัชกาลที่ ๖ เพราะไม่โปรดฯ ด้วยเห็นว่าน่ารำคาญ ร้องไปคนตายก็ไม่ฟื้นมาได้ แต่ในหมู่สามัญชนนั้นก็ยังมีความนิยมไม่เปลี่ยน มาระยะหลังชาวไทยได้ประยุกต์ " มอญร้องไห้ " ใส่บทร้อง และบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์มอญ เรียกว่าแบบตลาด ส่วนเนื้อเพลงนำมาจากเรื่อง “ราชาธิราช” จับตอนสมิงพระรามหนีเมีย โดยก่อนจะหนีก็เขียนจดหมายสอดไว้ใต้หมอนเข้าไปมองหน้าลูกเมียเป็นครั้งสุดท้าย ผู้ที่ร้องเพลงนี้เอาไว้เป็นท่านแรก คือ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ร้องได้สะเทือนอารมณ์ ผู้ฟัง และถือเป็นแม่แบบของเพลงมอญร้องไห้มาจนปัจจุบัน เนื้อความมีดังนี้

“ หยิบกระดาษวาดอักษรชะอ้อนสั่ง น้ำตาหลั่งไหลหยดรดอักษร แล้วสอดไว้ใต้เขนยที่เคยนอน พิศพักตร์ทอดถอนหฤทัย ค่อยตระโบมโลมลูบจูบสั่งลา นางจะรู้ก็ยาก็หาไม่
หักจิตออกนอกห้องทันใด ขึ้นม้าควบหนีไปมิได้ช้า ”

__________________


“ ปัญญาเปรียบเสมือน เครื่องประดับแห่งตน ”